ที่มา www.ripbmx.com บทความ ประวัติ BMX Freestyle เขียนโดย นายศิริประเสริฐ แซ่เตีย(B)
กว่าจะมาเป็น "Bike Stunt" ในทุกวันนี้ กีฬา Bike Stunt หรือจักรยานผาดโผน เป็นหนึ่งในกีฬา X-Games ที่มีประวัติถอยหลังไปยาวนานไม่ใช่เล่นเหมือนกัน ในยุค'70 การแข่งขันจักรยานวิบากแบบBMX(Bicycle Moto Cross)ที่มีวงล้อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 นิ้วในประเภท ความเร็ว(Racing) ได้เป็นที่นิยมกันมากในประเทศสหรัฐอเมริกา และได้แพร่ขยายไปทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว
หลังจากนั้นไม่นาน นักขี่หลายๆคนได้ฝึกท่าทางพลิกแพลงผาดโผนในแบบต่างๆ เพื่อความสนุกสนาน และใช้โชว์ออฟ กันในกลุ่มเพื่อนๆ ทั้งยังเป็นการฝึกทักษะในการควบคุมรถได้อย่างดี และเมื่อมีโอกาส ก็มักจะได้นำท่านั้นมาออกโชว์กันในช่วง พักของการแข่งความเร็ว หรือในการโปรโมทให้กับสปอนเซอร์ของตน ซึ่งจะเรียกความสนใจจากผู้คนได้ดีทีเดียว ต่อมาเมื่อ มีท่าทางหลากหลายมากขึ้น นักขี่หลายๆคนได้หันมาเน้นฝึกแต่ท่าพลิกแพลง(Tricks)ด้วยความหลงไหล จนกระทั่งได้กลายกีฬา ประเภทใหม่ที่เน้นฝึกเฉพาะแต่ท่าผาดโผนอย่างเดียว และได้พัฒนาเหล่านี้ให้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจคือ ในยุคนั้น ท่ายังไม่มีมากนัก จึงมีการคิดค้นลีลาต่างๆออกมาใหม่ตลอดเวลา นักขี่แต่ละคนจะมีท่าเป็นของตนเอง ไม่ค่อยจะซ้ำกันนัก นักขี่กลุ่มนี้จึงถูกขนานนามว่า "Freestyler" และได้เริ่มมีการจัดการแข่งขันเฉพาะทางขึ้น นักขี่ที่มีชื่อที่สุด คนนึงในช่วงนั้น คือ Bob Haro ซึ่งถือได้ว่าเป็น "Father of Freestyle" (ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทจักรยานที่ประสพ ความสำเร็จมากที่สุดบริษัทหนึ่ง)
ในราวปี 1985 เป็นต้นมา ทางบริษัทผู้ผลิตจักรยานหลายๆราย ได้มีการผลิตอะหลั่ยที่ทำไว้สำหรับการเล่นท่าFreestyle โดยเฉพาะ(ได้แก่ตัวถังที่มีที่ยืนตรงหลักอาน, ที่ยืนตรงแฮนด์, ที่ยืนตรงแกนล้อและตะเกียบฯลฯ) การจัดแข่งขันเริ่มมีมากขึ้น มีการรวมตัวนักขี่ผาดโผนจัดตั้งเป็นทีมFreestyle อย่างเต็มรูปแบบ ในช่วงนี้เองที่สมาคม AFA(American Freestyle Association) ได้เข้ามาผูกขาดในการจัดแข่งขันครั้งใหญ่ๆ นักขี่เอือมกับกติกาหยุมหยิม เช่น Flatland ก็ให้ใส่หมวกกันน็อค และกรรมการเป็นคนธรรมดา ไม่รู้จักการให้คะแนน โดยเฉพาะท่ายากๆหรือ ท่าใหม่ๆ แบนนักขี่ที่ไปแข่งงานอื่น , จัดแบ่งรุ่น(Class)ละเอียดยิบ ซึ่งนอกจากจะแบ่งตามรุ่นอายุ ยังมีรุ่นสมัครเล่น(Amateur) และรุ่นมืออาชีพ(Pro) ซึ่งนักขี่จะลงได้หลายรุ่น ปัญหาจึงอยู่ที่คนที่มีฝีมือดียังไม่ยอมTurn Pro ง่ายๆเพราะยังหวงตำแหน่งอยู่
ต่อมาเมื่อเริ่มเข้าปี 90 AFA ยกเลิกการจัดแข่ง ทำให้วงการเงียบเหงาไปพักหนึ่ง แต่ก็ได้ Mat Hoffman ซึ่งเป็นนักขี่ ได้ริ่เริ่มจัดงานแข่งขึ้นเองชื่อ Bike Stunt Series หรือ BS ซึ่งเป็นการปลุกผีวงการ ขึ้นมาอีกครั้ง และได้ประสพความสำเร็จ อย่างสูง จนกระทั่ง ESPN ช่องกีฬายักษ์ใหญ่ ได้มาติดต่อขอซื้อรายการต่อ และจัดให้มีการนำภาพจากการแข่งไปออกอากาศ ทั่วโลก และต่อมาได้รวบรวมกีฬาสุดขั้วหรือ Extreme Sports เข้าไว้ด้วยกัน ภายใต้ชื่อ X-Games ซึ่งจัดกันเป็นประจำทุก ปีที่ Sanfrancisco ล่าสุดปี2001 จะย้ายไปจัดกันที่ Philadephia Flatland หาย Mat ช่วย? หลังจาก Take over งานแข่งไป ในครั้งแรกๆ ก็มีปัญหาเหมือนกัน คือ ESPN ยังให้ Hoffman bikes เป็นผู้จัดการแข่ง แต่จัดให้มีเงินรางวัลในการแข่งขันเพียง 2 ก้อน คือ Vert กับ Park ไม่สนับสนุนการแข่ง Flatland ซึ่งดูไม่หวือหวา Mat เลยตัดสินใจหารเงินรางวัลนั้นเป็น 3 ส่วน เพื่อให้มีการแข่ง Flatland ด้วย นับเป็นการตัดสินใจที่ชี้ชะตาวงการไว้ครั้งหนึ่ง
สำหรับประเภทของการแข่ง Bike Stunt ในทุกวันนี้แบ่งออกโดยรูปแบบของสนามที่ต่างกันออกไป Dirt การกระโดดเนินดิน เกิดและไปพร้อมBMX ปัจจุบันจะมีแข่งพ่วงไปด้วยเกือบทุกสนาม เป็นสีสันของงานแข่ง Racingด้วย Flatland การเล่นท่าทางบนพื้นเรียบ มีแต่คนกับจักรยาน ลีลาเทียบได้กับยิมนาสติค Floor Excercise นักขี่จะต้องนำท่าทางมา ต่อเนื่องกันให้มีความลื่นไหล สวยงาม โดยผิดพลาดน้อยที่สุด Park สนามมีอุปกรณ์ต่างๆที่จำลองขึ้นจากการขี่ตามท้องถนน เช่นมีขอบกระถางสูงๆ มีราวบันได เนินลาด เนินโค้ง เก้าอี้ยาว ทางต่างระดับ อัดกันไว้ในสนามเดียว นักขี่จะต้องใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ที่กำหนดให้ Vert-Halfpipe เนินโค้งขนาดใหญ่ที่มีส่วนสูงตั้งแต่ 8-12 ฟุต หรือกว่านั้น มีส่วนปลายชันถึง 90 องศา 3-4 ฟุต นักกีฬาจะ ใช้ส่งตัวเองให้ลอยขึ้นไปเล่นท่ากลางอากาศ ได้สูงตั้งแต่ 6-10 ฟุต และเลี้ยวกลับลงมา ถ้ามี 2 ข้างหันหน้าชนกัน จะมีลักษณะ เหมือนท่อครึ่งวงกลม (Halfpipe)
ส่วนกีฬา Bike Stunt บ้านเรานั้น กระแสมักจะช้ากว่าเขาสักหน่อย มีเล่นกันมาในช่วงที่นิยม Racing เมื่อเกือบ20ปีก่อน แล้วก็ซาไปพร้อมๆกับ Racing มาโผล่อีกทีเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยตามสนามกีฬา กลุ่มละ 6-7 คน งานแข่งที่สวนอัมพร เมื่อปี2533 เป็นครั้งที่บูมสุดก่อนจะซาไปอีก 7 ปี ช่วงนี้แม้แต่จะหาอะหลั่ยสักชิ้นยังยาก เพราะร้านจักรยานได้เปลี่ยนไปขายMountain bike กันหมด แล้วกลับมาฟื้นอีกทีตอนช่วงกระแส X-Games เข้ามาบ้านเรา
กว่าจะมาเป็น BMX ในไทย
BMX (Bicycle Motocross) ได้ถือกำเนิดมาจากฝั่งประเทศตะวันตก ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จากกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่อยากจะขี่จักรยานได้เหมือนกับจักรยานยนต์วิบาก (Motocross)โดยได้มีการนำจักรยาน ประเภท Stingray มาขี่ในสนามทำขึ้นเหมือนกับสภาพสนามการแข่งขันจักรยานยนต์วิบาก (Motocross) โดยในยุคเริ่มต้นของจักรยาน BMX นั้นมีการปรับปรุงสมรรถนะของจักรยานโดยมีการนำระบบกันสะเทือน (Shock-Up) มาใช้กับตัวโครงรถและตะเกียบด้านหน้า แต่เนื่องจากน้ำหนักที่มากบวกกับราคาที่ค่อนข้างสูง และเพื่อให้ได้มีการใช้งานอย่างคล่องตัวและเด็กๆสามารถจะเป็นเจ้าของรถอย่างไม่ยากเย็น ผู้ผลิตจักรยานในยุคนั้นจึงได้มีการปรุงและลดชิ้นส่วนต่างๆที่ไม่จำเป็นออกไป รูปแบบของจักรยาน BMX ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจึงได้กำเนิด ณ จุดนี้เอง
BMX ในประเทศไทย
จากอิทธิพลดังกล่าว ความนิยมของรถจักรยานประเภทวิบาก (Bicycle Motocross) ได้รับความนิยมและมีการแพร่หลายไปยังทั่วทุกมุมรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งในช่วง พ.ศ. 2518 นี้เองก็เป็นช่วงหนึ่งของหน้าประวัติรถจักรยานประเภทวิบากที่เรียกกันว่า Bicycle Motocross ช่วงนี้เองเป็นช่วงที่เด็กไทยมีความใฝ่ฝันอยากจะได้รถในฝันของตัวเองที่สามารถขี่ได้เหมือนกันกับสื่อที่ได้เห็นตามหน้าหนังสือรวมทั้งภาพยนตร์ ยุคนี้เองไม่มีใครที่จะปฎิเสธที่จะไม่รู้จักรถจักรยานที่มีโช๊คอัพอยู่ตรงกลางนาม “Merida Mono-Shock” จะเห็นได้จากทุกๆสนามการแข่งขันนั้นล้วนแล้วแต่จะมีรถยี่ห้อปรากฏอยู่ทุกๆสนามไป
ในยุคของการแข่งขันแรกๆนั้น (พ.ศ. 2519-2524) จักรยานประเภทวิบากนี้ยังต้องอาศัยสนามแข่งขันเดียวกับรถจักรยานยนต์วิบาก มีการสลับขั้นรายการระหว่างการแข่งทั้ง 2 ประเภทนี้ และช่วงระหว่างปีนี้เองนักแข่งหลายๆคนเริ่มที่จะมีการใช้จักรยาน BMX เข้าร่วมการแข่งขันเนื่องจากน้ำหนักที่เบากว่ารถประเภทโมโนโช๊คหลายตัว ใช้งานคล่องตัว เริ่มมีปรากฏให้เห็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากยี่ห้อ โอลด์อีเกิ้ล ไปจนถึง ปรีดา BMX ไปจนหลากหลายยี่ห้อที่ผู้ผลิตจักรยานในประเทศไทยได้พัฒนาและผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการอันล้นหลาม
ปีพ.ศ 2524-2526 ปีนี้เองนับเป็นปีทองที่รุ่งเรืองของจักรยาน BMX เนื่องจากความเสื่อมถอยความนิยมของรถโมโนโช๊คที่มีน้ำหนักมากบวกกับราคาของจักรยาน BMX ที่ถูกขึ้นเรื่อยๆนั้นส่งผลให้รถโมโนโช๊คได้หายตายไปกับสนามการแข่งขันจักรยานประเภทวิบาก ภาพที่เห็นในช่วงนั้นจะมีแต่จักรยาน BMX เท่านั้นเอง อะไหล่ดีๆจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น และ อเมริกาก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยโดยร้าน, ห้างหุ้นส่วนต่างๆ ต่างก็ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจเนื่องจากผลพวงความนิยมของจักรยาน BMX นี้เอง
ยุคนี้มีการจัดแข่งกันทั่วสารทิศ นักแข่งฝีมือดีๆเริ่มปรากฏ รวมทั้งทีมแข่งจากหลากหลายสังกัดที่เริ่มเฟ้นหานักแข่งฝีมือเข้าประจำสังกัดของตนเอง ส่วนรายการการแข่งขันจักรยานยนต์วิบากนั้นไม่มีงานไหนที่จะไม่มี BMX ปรากฏ
ยุคสลายของวงการ BMX ในประเทศไทย
แฟชั่นและอารยะธรรมทางเทคโนโลยีที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยที่มีผลให้เด็กไทยในสมัยนั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงความสนใจการที่เคยมีแต่จักรยาน BMX อย่างเดียวเปลี่ยนมาเป็นจักรยานประเภทเล่นท่า (Freestyle BMX), เกมส์กด, ตู้เกมส์ , โรลเลอร์สเก็ต ฯลฯ รวมทั้งน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2526 ที่ทำให้จักรยานดีๆหลายคันได้จมหายไปและอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับผู้จัดการแข่งขันหลายรายทำให้ความนิยมรถจักรยาน BMX เสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็วจนหมดไปจนเหลือแต่ภาพทรงจำที่รุ่งเรืองในอดีต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น